1984 หนึ่ง เก้า แปด สี่ NINETEEN EIGHTY-FOUR
คุณสมบัติเด่น / รายละเอียดสินค้า:
ปัญหาสำคัญในการแปลนวนิยายการเมืองเรื่องนี้อยู่ตรงที่ จอร์จ ออร์เวลล์ ใช้การ ‘เล่น’ กับภาษาเพื่อการเสียดสี เย้ยหยันและแสดงวิธีคิดที่เปลี่ยนไปสู่ระบอบการปกครองใหม่ของโลกในอนาคต ออร์เวลล์เป็นนักเขียนที่ให้ความสนใจเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับการเมืองเป็นอย่างมาก ดังนั้นเขาจึงใช้มโนทัศน์ในแง่ของภาษาเป็นส่วนประกอบสำคัญในงานเขียนชิ้นนี้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับผู้แปลที่จะถอดความเป็นภาษาไทยให้คงความหมายและน้ำหนักได้รุ่มรวยเท่าที่ปรากฏในต้นฉบับภาษาอังกฤษ อาทิเช่น การใช้คำย่อ ‘Minitrue’ แทนชื่อเรียกเต็มว่า Ministry of Truth (กระทรวงแห่งความจริง) นั้นอาจตีความหมายได้สองสัย ประการแรกคือ การพยายามทำภาษาให้รวบรัดเพื่อกำหนดความคิดของคนให้พลอยหดสั้นและจำกัดไปตามรูป ความหมาย และการใช้ภาษา ประการที่สองเป็นการจงใจเสียดสีด้วยคำว่า ‘Minitrue’ ซึ่งสามารถแปลได้ว่า ‘จริงเพียงเล็กน้อย’ สำหรับกรณีเช่นนี้ ผู้แปลลงความเห็นว่าเป็นการเหมาะสมกว่าหากจะคงตามต้นฉบับไว้โดยไม่พยายามถอดคำเรียงเชิงเย้ยหยันนี้ออกมาเป็นภาษาไทย หากได้ใช้วิธีอธิบายความหมายของคำที่ใช้ทับศัพท์เหล่านี้ไว้ในเชิงอรรถแทน
รัฐของ 1984 ทำงานอย่างเป็นระบบ อาศัยการคิดที่ซับซ้อนวางแผนและกับดักไว้อย่างเฉลียวฉลาดเพื่อตรวจจับความคิดเบี่ยงเบน อำนาจเบ็ดเสร็จของพรรคแข็งแรงพอที่จะไม่ต้องอาศัยการจัดฉากอื่นใดเข้ามาสร้างภาพแห่งความชอบธรรม ไม่ต้องมีระบบไต่สวนและพิพากษาโดยศาล เพราะเมื่อถูกจับในฐานะ ‘อาชญากรความคิด’ ก็แปลว่าผิดแล้วอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเอ่ยปากออกมาหรือไม่ !
สมองของคุณไม่ได้เป็นของคุณ มันเป็นสมบัติของพรรคพรรคไม่จำเป็นต้องหาข้อกฎหมายมายืนยันว่า หากคุณละเมอวลี “พี่เบิ้มจงพินาศ” หรือเขียนข้อความอย่างเดียวกันลงในสมุดบันทึกส่วนตัวที่ซุกซ่อนไว้สำหรับอ่านคนเดียว คุณจะต้องมีความผิดสถานใด เพราะคุณ ‘ผิดตั้งแต่คิด’ แล้ว !
ที่โอชันเนียทรุดโทรม ทึบทึม เมืองแห้งแล้ง ผู้คนไม่มีชีวิตชีวา ช่างต่างจากสยามเมืองยิ้มที่เต็มไปด้วยการเฉลิมฉลองยิ่งนักแต่อะไรเล่าที่ทำให้ผู้อ่านในบริบทร่วมสมัยของเรารู้สึกกระทบใจรวมกับว่าหลายบทหลายตอนในหนังสือเล่มนี้ เขียนขึ้นโดยมีพฤติกรรมสังคมของเราวางหราอยู่ตรงหน้าผู้เขียน
การค่อยๆ ปล่อยให้บทบรรยายของออร์เวลล์ชำแรกเข้าไปในระหว่างจุดตัดของ 1984 กับสังคมสยามอันห่างไกลข้ามศตวรรษจะเผยให้เรากระจ่างแจ้งในกลไกขับเคลื่อนรูปการณ์จิตสำนึกของสังคม ที่เราเคยนึกเอาอย่างไร้เดียงสาว่าเป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ หาได้มีการวางแผนเพื่อเดินหมากอย่างรัดกุมไม่